สาเหตุอาการ “เบื่ออาหาร” ของผู้สูงอายุ
อาการที่ไม่รู้สึกอยากรับประทานอาหาร หรือความต้องการรับประทานอาหารลดลง เป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องจากเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย และจิตใจ อาจนำไปสู่ภาวะขาดสารอาหาร หรือที่เรียกว่า ภาวะโภชนาการต่ำ ซึ่งอาการเบื่ออาหารในผู้สูงอายุอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
ปัญหาด้านสุขภาพกาย
การรับรสชาติอาหาร และกลิ่นเปลี่ยนไป
ผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้น้อยลง เพราะความสามารถในการรับรสชาติอาหาร และกลิ่นเปลี่ยนไป เนื่องจากต่อมรับรสชาติอาหารบนลิ้น และการรับกลิ่นทำงานแย่ลง ทำให้เวลาผู้สูงอายุกินอาหาร จึงไม่ค่อยได้รับรสชาติ และกลิ่นของอาหาร ผู้สูงอายุรู้สึกว่ากินอาหารไม่ค่อยอร่อย จึงทำให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหารนั่นเอง
สุขภาพของฟัน และเหงือก
ฟันและเหงือกของผู้สูงอายุไม่แข็งแรง เนื่องจากการเจ็บปวดที่ฟัน และเหงือก อาจเกิดจากฟันที่หลุดร่วง เหงือกร่น หรือฟันปลอมที่อาจจะหลวม ทำให้ผู้สูงอายุเคี้ยวอาหารไม่ถนัด และรับประทานอาหารได้น้อยลง

การกลืนลำบาก
ต่อมน้ำลายของผู้สูงอายุผลิตได้น้อยลง ในปากจะมีความชื้นน้อย เวลาผู้สูงอายุเคี้ยวอาหารจะฝืดคอ ทำให้สำลักอาหาร และน้ำบ่อย ๆ รวมไปถึงการกลืนอาหารเข้าไปแล้วรู้สึกว่าอาหารติดอยู่ในหน้าอก ซึ่งมาจากความผิดปกติของระบบประสาทเกี่ยวกับการกลืน หรือที่หลอดอาหาร เช่น มีเนื้องอกในหลอดอาหาร หลอดอาหารตีบตัน ส่งผลให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหารได้เช่นกัน
ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง
การบีบตัว และคลายตัวของกระเพาะอาหาร และลำไส้ทำงานไม่ปกติ ย่อยอาหารได้ไม่ดี เนื่องจากผู้สูงอายุมีน้ำย่อยในกระเพาะอาหารน้อยลง ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีอาหารตกค้างในกระเพาะอาหาร และลำไส้ ก่อให้เกิดอาการแน่นท้อง ท้องผูก ทำให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้น้อยลง รวมไปถึงมีอาการเบื่ออาหาร
โรคต่าง ๆ
โรคที่ทำให้ผู้สูงอายุที่มีอาการเบื่ออาหาร เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไต รวมไปถึงโรคติดเชื้อชนิดเรื้อรัง อย่างโรควัณโรค หรือโรคของต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ต่อมหมวกไตทำงานลดลง ยิ่งโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งจะพบว่ามีอาการเบื่ออาหารอยู่บ่อย ๆ

ปัญหาด้านสภาพจิตใจ
ความเครียด อาการซึมเศร้า รวมไปถึงผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีอาการเบื่ออาหารทั้งนั้น และยิ่งมีปัจจัยอื่น ๆ มากระตุ้น เช่น ความเสียใจจากการสูญเสีย น้อยใจคนในครอบครัว ก็เป็นสาเหตุให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหารได้
ปัญหาด้านการใช้ยา
การใช้ยาของผู้สูงอายุบางชนิดส่งผลทำให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหารได้ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยารักษาภาวะซึมเศร้าบางชนิด ทำให้ปากคอแห้ง มีผลต่อการรับรสชาติ และการกลืน หรือยาแก้อักเสบ ยาแก้หอบหืดบางชนิด ทำให้ท้องอืด คลื่นไส้ ไม่อยากอาหาร รวมไปถึงยาโรคหัวใจบางชนิดไปรบกวนการได้กลิ่น และการรับรสชาติ อีกทั้งการฉายสี-เคมีบำบัด ก็เป็นสาเหตุทำให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหารได้เช่นกัน
ปัญหาทางด้านอื่น ๆ
ผู้สูงอายุบางคนไม่สามารถออกไปเลือกซื้ออาหารเองได้ รวมไปถึงสภาพอากาศ เช่น อากาศร้อน ทำให้รู้สึกอึดอัด หงุดหงิด ส่งผลให้ไม่อยากอาหาร หรือร่างกายของผู้สูงอายุเสียเหงื่อมาก จึงดื่มน้ำทดแทน ทำให้ผู้สูงอายุไม่เกิดอาการหิว
อาการ “ เบื่ออาหาร ” ของผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุที่เบื่ออาหาร มักจะมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย
น้ำหนักลด
เนื่องจากผู้สูงอายุที่มีอาการเบื่ออาหาร รับประทานอาหารไม่ค่อยได้ ทำให้ผู้สูงอายุมีร่างกายที่ซูบผอม ไม่มีเรี่ยวแรงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
อ่อนเพลีย
พักผ่อนไม่เพียงพอ เนื่องจากผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้น้อยลง ทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงกับภาวะขาดสารอาหาร ร่างกายอ่อนแรง ภูมิต้านทานต่ำ มีโอกาสเจ็บป่วย และติดเชื้อได้ง่าย
คลื่นไส้ อาเจียน
เนื่องจากผู้สูงอายุรับประทานอาหารไม่ค่อยได้ ส่งผลให้ไม่มีอาหารตกถึงท้องของผู้สูงอายุ กรดในกระเพาะจะเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดกรดไหลย้อน และจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนตามมา
วิธีแก้อาการ “ เบื่ออาหาร ”

เพิ่มความหลากหลายของอาหาร
เมนูอาหารที่เคี้ยวง่ายขึ้น
เช่น เนื้อสัตว์ที่เป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือเนื้อสัตว์สับละเอียด รวมไปถึงเมนูอาหารที่มีความอ่อนนุ่ม น้ำมาก เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุป เพื่อผู้สูงอายุกลืนได้ง่ายขึ้น และป้องกันการสำลักอาหารของผู้สูงอายุ
ไม่ปรุงอาหารรสจัด หวาน มัน เค็ม
โดยที่อาจจะใช้เครื่องเทศ หรือสมุนไพร ที่มีรสเผ็ดเล็กน้อย เพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย ทำให้กระเพาะอาหาร และลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น รวมไปถึงกระตุ้นความอยากอาหารด้วย อีกทั้งควรเพิ่มรสเปรี้ยวในอาหาร เพื่อทำให้ผู้สูงอายุเกิดความสดชื่น
จิบน้ำบ่อย ๆ และดื่มน้ำที่ไม่เย็นจัด
อาจเปลี่ยนจากน้ำเปล่ามาเป็นน้ำสมุนไพร เพื่อเพิ่มความสดชื่น ผ่อนคลาย และยังช่วยให้ผู้สูงอายุเกิดความอยากรับประทานอาหารอีกด้วย
ปรับเปลี่ยนเมนูอาหารทุกวัน
เพื่อไม่ให้เมนูจำเจ และควรจัดอาหารให้มีความหลากหลายครบ 5 หมู่ ทั้งประเภทต้ม ผัด แกง ทอด แต่ไม่ควรที่จะมีมันเยอะเกินไป
ลองเพิ่มมื้ออาหารดู
แบ่งมื้ออาหารเป็น 5-6 มื้อต่อวัน โดยรับประทานมื้อละน้อย ๆ และมีพลังงานสูง
เปลี่ยนบรรยากาศบนโต๊ะอาหาร
จัดโต๊ะอาหารให้มีอากาศถ่ายเท เช่น นอกพื้นที่บ้าน ในสวน และรับประทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว หรือจัดให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารร่วมกับเพื่อนวัยเดียวกันเป็นครั้งคราว เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความสุข และไม่รู้สึกเหงา

ดูแลสุขภาพร่างกายของผู้สูงอายุ
ชั่งน้ำหนักผู้สูงอายุ
ควรชั่งน้ำหนักทุกวัน และจดบันทึก เพื่อประเมินภาวะโภชนาการของผู้สูงอายุคร่าว ๆ และควรใช้เครื่องชั่งน้ำหนักแบบเลขดิจิทัลจะแม่นยำกว่า
ตรวจสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ
ควรพาผู้สูงอายุไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพของฟัน และเหงือก รวมไปถึงเช็กสภาพของฟันปลอมด้วย ในกรณีที่ผู้สูงอายุใส่ฟันปลอม
สังเกตอาการที่ผิดปกติของผู้สูงอายุ
เช่น ท้องผูก ท้องเสีย ปวดมวนท้อง ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการซึมเศร้า เป็นต้น
หากิจกรรมทำร่วมกับผู้สูงอายุ
เช่น พูดคุยกับผู้สูงอายุ ดูทีวีร่วมกัน หรือพาผู้สูงอายุไปเปิดหูเปิดตาข้างนอกบ้าน เดินชมสวน เพื่อให้ผู้สูงอายุผ่อนคลาย
อาหารสูตรครบถ้วน ทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุที่เบื่ออาหาร

อาหารสูตรครบถ้วน คืออะไร?
อาหารเสริมที่นำเอาสารอาหารครบ 5 หมู่ ประกอบด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมันดี วิตามิน แร่ธาตุ รวมถึงใยอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย รวมเข้าไว้ด้วยกันให้สมดุลตามหลักทางการแพทย์ และเหมาะสมตามความต้องการของแต่ละบุคคล อาหารสูตรครบถ้วนสามารถใช้ทดแทน หรือเสริมมื้ออาหารในแต่ละวันของบุคคลที่ไม่สามารถรับประทานอาหารปกติได้ หรือรับประทานอาหารได้ไม่เพียงพอ
ทำไมคนเบื่ออาหาร ควรทานอาหารสูตรครบถ้วน

สร้างสรรค์ได้หลายเมนู
แทนที่จะชงอาหารสูตรครบถ้วนกับน้ำเปล่าธรรมดา ก็อาจจะเปลี่ยนมาชงกับนม หรือนำอาหารสูตรครบถ้วนไปทำเป็นเมนูต่าง ๆ ได้หลากหลายเมนู เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุเบื่อ และจำเจ สามารถทำเองได้ง่าย ๆ ที่บ้าน เช่น ปั่นกับผลไม้เป็นสมูทตี้ พานาคอตต้า เค้กกล้วยหอม คุกกี้ข้าวโอ๊ต บราวนี่ หรือเมนูอื่น ๆ ได้อีกมากมาย
มีหลายรสชาติ
ในปัจจุบันอาหารสูตรครบถ้วนได้พัฒนารสชาติ และกลิ่นให้มีความหลากหลาย ให้สามารถรับประทานง่ายขึ้น และมาพร้อมกับรสชาติที่อร่อยขึ้น เช่น รสวานิลลา จะมีรสชาติที่หวานหอม และเป็นชาติที่คุ้นเคยของผู้สูงอายุ รสชาติธัญพืช จะมีรสชาติที่ไม่หวานมากจนเกินไป หรือรสช็อกโกแลต และรสสตรอว์เบอร์รี เป็นรสชาติที่แปลกใหม่สำหรับผู้สูงอายุ
มีหลายสูตรให้เลือกใช้
สามารถเลือกรับประทานอาหารสูตรครบถ้วนตามความเหมาะสมกับโรคนั้น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคไตโรคตับ โรคมะเร็ง หรือตามความต้องการของแต่ละบุคคล รวมไปถึงผู้สูงอายุที่เบื่ออาหารด้วย ซึ่งอาหารสูตรครบถ้วนไม่มีผลกับการรักษาโรค เพียงแต่ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหาร และฟื้นฟูตัวเองได้

สรุป
อาการเบื่ออาหารพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ สาเหตุมาจากปัญหาทางด้านสุขภาพกาย และจิตใจ ที่เปลี่ยนแปลงตามอายุที่มากขึ้น รวมไปถึงการใช้ยาบางชนิด ตัวช่วยที่สามารถแก้อาการเบื่ออาหารของผู้สูงอายุได้ คือ ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้สูงอายุ และดูแลอย่างใกล้ชิด โดยการเพิ่มความหลากหลายของอาหาร เปลี่ยนบรรยากาศในการรับประทานอาหาร และเสริมด้วยอาหารสูตรครบถ้วนในบางมื้ออาหารตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุเบื่อ และจำเจ